เทอร์โมฟิวส์เป็นอุปกรณ์ป้องกันเนื่องจากความร้อนเกิน ( Overheating Protection ) ส่วนฟิวส์อีกแบบที่เรารู้จักอยู่แล้วเป็นอุปกรณ์ป้องกันเนื่องจากกระแสเกิน ( Over Current Protection ) ฟิวส์ 2 แบบนี้ถึงแม้ชื่อฟิวส์เหมือนกันแต่ไม่สามารถใช้แทนกันได้ ( ห้ามใช้แทนกัน )เนื่องจากมีกราฟการทำงานและเงื่อนไขการทำงานและการทดสอบที่แตกต่างกัน ห้ามใช้ฟิวส์ธรรมดาแทนเทอร์โมฟิวส์ เมื่ออุปกรณ์ไฟฟ้าทำงานผิดปกติจะมีความร้อนเกิน ความร้อนเกินนี้ทำให้ฉนวนไฟฟ้าเสียหายและอุปกรณ์ตัวอื่นๆในวงจรเสียหายด้วย เกิดไฟไหม้และไฟฟ้าลัดวงจร เทอร์โมฟิวส์ถูกนำไปใช้งานกับอุปกรณ์หลายอย่างที่ทำงานผิดปกติแล้วมีความร้อนเกิน เช่น พัดลม เตารีด หม้อหุงข้าวไฟฟ้า ฮีตเตอร์ ไดรเออร์เป่าลมร้อน เครื่องปิ้งขนมปัง หม้อแปลงไฟฟ้า มอเตอร์ โซลีนอยด์ อะแดปเตอร์แปลงไฟ เป็นต้น
ฟิวส์ป้องกันกระแสเกิน ( Over Current Protection ) , Current Fuse
โครงสร้างของเทอร์โมฟิวส์
ข้างในมีเส้นฟิวส์ ( Fusible Alloy Element )ที่ไวต่ออุณหภูมิ ส่วนข้างนอกหุ้มปิดด้วยเซรามิค โลหะ บางรุ่นหุ้มปิดด้วยเคสพลาสติก มีขาเพื่อต่อไฟใช้งาน ความชื้นทำให้เทอร์โมฟิวส์ทำงานผิดปกติและไม่ทำงานตัดวงจรตามที่ควรจะเป็น ดังนั้นจึงห้ามใช้เทอร์โมฟิวส์ในบริเวณที่มีน้ำหรือความชื้น ตัวเทอร์โมฟิวส์มี Epoxy Resin เป็นซีลป้องกันความชื้นระดับหนึ่ง
คุณสมบัติของเทอร์โมฟิวส์
1. อุณหภูมิขาด ( Tf = Rated Function Temperature) เป็นอุณหภูมิที่เทอร์โมฟิวส์ขาดหรือตัดวงจร(เปิดวงจร) เช่น Tf= 142C , Tf=175C , Tf=240C , จุดอุณหภูมิที่ขาดนี้เป็นค่า + - เช่น Tf= 134C จะอยู่ในช่วง 134+4 , 134-3 ความร้อนเกินที่ทำให้มันขาดในรายละเอียดการทดสอบจะแยกทดสอบ กระแสไหลมากทำให้เกิดความร้อนเกินที่เทอร์โมฟิวส์แล้วมันขาด และ ขาดเนื่องจากความร้อนเกินจากบริเวณแวดล้อม 2 ค่านี้มีจุดขาดที่ไม่ห่างกันมาก จากสเปคของผู้ผลิตจะพิมพ์ค่า Tf ที่ตัวเทอร์โมฟิวส์ซึ่งเป็นอุณหภูมิที่เทอร์โมฟิวส์ขาดเนื่องจากกระแสไหลมากแล้วทำให้เกิดความร้อนเกินจนขาด
2. พิกัดกระแสและแรงดันไฟฟ้า เช่นที่ตัวเทอร์โมฟิวส์พิมพ์ไว้ 10A 250V หมายถึงนำไปใช้ในงานที่ห้ามเกิน 10A 250V ฟิวส์จะทำหน้าที่ตัดอุณภูมิที่เกินได้อย่างเที่ยงตรงและปลอดภัย สามารถนำไปใช้ที่งาน 5A 3A ได้เป็นต้น เนื่องจากตอนผลิตเขาทดสอบให้มันตัดอุณหภูมิที่พิกัดกระแส 10A 250A ถ้าใช้งานเกินสเปคกระแส หรือแรงดันที่ทดสอบ อาจเกิดการอาร์คและเกิดความไม่ปลอดภัยทางไฟฟ้าได้
วิธีวัดเทอร์โมฟิวส์
เทอร์โมฟิวส์มีความต้านทานระดับมิลลิโอห์ม ถ้าเทอร์โมฟิวส์ดี 2 ขามันจะต่อถึงกัน สามารถเช็คดีเสียโดยใช้มัลติมิเตอร์ย่านวัด Rx1 หรือ ย่านวัดความต่อเนื่อง (CONT'y) ดีเข็มจะขึ้น (พร้อมไฟ LED ของมัลติมิเตอร์สว่าง ) กรณีเสียลักษณะขาดวัดแล้วเข็มไม่ขึ้น
เทอร์โมฟิวส์พัดลม 2A 250VACวัดเทอร์โมฟิวส์พัดลม ดีเข็มจะขึ้นมากตามรูป เสียเข็มจะไม่ขึ้นเลย
เทอร์โมฟิวส์ ต้องใช้ค่า Tf (อุณหภูมิที่มันขาด ) ให้เหมือนตัวเก่า
สำหรับงานซ่อมวัดแล้วเทอร์โมฟิวส์ขาด การหาเทอร์โมฟิวส์ตัวใหม่มาใช้แทนต้องใช้เทอร์โมฟิวส์มีค่า Tf หรืออุณภูมิขาดเหมือนตัวเก่าหรือให้ใกล้เคียงที่สุด กรณีจำเป็นมากสามารถใช้อุณภูมิขาดที่น้อยกว่าได้ แต่ไม่สามารถใช้อุณภูมิขาดที่สูงกว่าตัวเก่ามากได้เนื่องจากเมื่อเกิดความร้อนเกินแล้วมันยังไม่ตัดอุปกรณ์จะมีปัญหาเรื่องความปลอดภัยอุปกรณ์เสียหายและอาจเกิดไฟไหม้ได้
30 เรื่อง การวัดอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ( เป็น ภาษาอังกฤษ) > อ่านที่เว็บนี้